วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กำเนิดดวงอาทิตย์ และ ระบบสุริยะ


ดวงอาทิตย์ และดาวบริวาร รวมกันเรียกว่า ระบบสุริยะ (Solar System) กำเนิดขึ้นเมื่อราว 4,600 ล้านปีก่อน โดยกำเนิดจากเนบิวลา หรือกลุ่มก๊าซ ที่หลงเหลือจากซุปเปอร์โนวา ของดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ ดวงใดดวงหนึ่งในทางช้างเผือก ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ขนาดกลางดวงหนึ่ง ในจำนวนดาวฤกษ์มากกว่า แสนล้านดวงในทางช้างเผือก ดวงอาทิตย์อาจเป็นดาวฤกษ์เกิดใหม่ รุ่นที่ 2 หรือมากกว่านั้น ดาวบริวาร หรือดาวเคราะห์ที่กำเนิดขึ้นในระบบสุริยะจึงมีธาตุ ที่มีมวลโมเลกุลใหญ่กว่าไฮโดรเจน และฮีเลี่ยม เป็นธาตุหนักเช่น คาร์บอน ออกซิเจน ไปจนถึง เหล็ก ปะปนอยู่ด้วย ดังเช่นที่พบบนดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดวงจันทร์ของดาวเคระห์ดังกล่าวหรือ เทหวัตถุอื่นๆ ในระบบสุริยะ ธาตุหนักเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากการหลอมไฮโดรเจน เป็น ฮีเลี่ยม และธาตุที่มีมวลโมเลกุลใหญ่ขึ้น โดยปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น ในดาวฤกษ์รุ่นก่อนที่จะเกิด ซุปเปอร์โนวา (supernova) ดังกล่าว มวลส่วนผิวนอก ของดาวฤกษ์ที่ถูกแรงระเบิดสาดออกมาตอนเกิด ซุปเปอร์โนวา (supernova) ได้กลายมาเป็นเนบิวลา หรือกลุ่มก๊าซ ที่เป็นต้นกำเนิด ของ ดวงอาทิตย์ และระบบสุริยะ ที่เราอาศัยอยู่

เนบิวลา หรือกลุ่มก๊าซ ที่เป็นต้นกำเนิดดวงอาทิตย์ และระบบสุริยะ มีรูปร่างคล้ายจานแบน หมุนรอบตัวเองตลอดเวลา กลุ่มก๊าซจะค่อยๆหดตัวลง ในขณะที่ความเร็วในการหมุนรอบตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มก๊าซที่อยู่ด้านในจะเริ่มรวมกลุ่มเป็นดาวฤกษ์รุ่นใหม่ คือดวงอาทิตย์ และเพื่อรักษาสมดุลย์ของระบบ กลุ่มก๊าซที่อยู่ด้านนอกจะค่อยๆแยกตัวออกมาเป็นวงแหวน เมื่อดวงอาทิตย์หดตัวเล็กลงเรื่อยๆ จะค่อยๆกำเนิดวงแหวนของก๊าซด้านนอก แยกออกมาอีกทีละชั้น วงแหวนที่กำเนิดขึ้นมานี่เอง เป็นวัตถุดิบในการ กำเนิดโลก กำเนิดดาวบริวาร หรือดาวเคราะห์ อื่น อีก ทั้ง 7 ดวง รวมทั้งดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แต่ละดวงด้วย ส่วนที่เหลือ กลายเป็นดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง อุกาบาต และเทหวัตถุอื่นๆ ในระบบสุริยะ

ดวงอาทิตย์ มีเนื้อมวลคิดเป็น 99.87% ของมวลทั้งหมดในระบบสุริยะ เส้นผ่าศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ใหญ่กว่าโลก มากกว่า 100 เท่า อุณหภูมิที่ใจกลางดวงอาทิตย์ สูงกว่า 10 ล้านองศาเซลเซียส อุณหภูมิที่ิผิว ราว 5,500 องศาเซลเซียส ปัจจุบันดวงอาทิตย์ใช้ชีวิตมาแล้วครึ่งหนึ่ง บริโภคมวลสาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจน วินาทีละ 4 ล้านตัน อีกราว 4,600 ล้านปี ดวงอาทิตย์ก็จะพบจุดจบ แต่ดวงอาทิตย์ ขนาดไม่ใหญ่เพียงพอที่จะเกิด ซุปเปอร์โนวา (supernova) ดวงอาทิตย์จะขยายขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็นดาวยักษ์แดง เผาไหม้กลืนกินโลกของเรา ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะเผาไหม้เชื้อเพลิงด้านนอกจนเกือบหมด แล้วจึงจะหดตัวมีขนาดเล็กลง สิ้นอายุ กลายเป็นดาวแคระขาว ต่อไป




แหล่งที่มา http://www.origins-earth-life.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น